ประวัติความเป็นมาของ ยันต์โสฬสมหามงคล และ พระคาถาโสฬสมงคล
ยันต์ เป็นคำโบราณหมายถึง การจาร จารึก หรือเขียนอักขระโบราณลงบนวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นเงิน แผ่นทอง แผ่นโลหะ อันเป็นมงคล หรือการสักลงบนร่างกายของมนุษย์ เพื่อแสดงกลุ่มชาติพันธุ์หรือความเป็นหนุ่มที่พร้อมจะรับผิดชอบมีครอบครัว เช่น การสักยันต์ของกลุ่มชาวลาวพุงดำ คือสักตั้งแต่พุงลงไป สำหรับประเทศไทย “ยันต์” ได้รับอิทธิพลจากการเขียนบนหน้าผากของอินเดีย ที่เรียกว่า “ติลก” (Tilok) อันเป็นเครื่องหมายบูชาเทพเจ้า โดยเฉพาะพระศิวะและพระนารายณ์ ซึ่งภายหลังเขมรรับมาทั้งพราหมณ์และพุทธมหายาน และขยายเข้าสู่สยามในเวลาต่อมา โดยบรรดาเกจิคณาจารย์ทั้งหลายก็จะได้รับการถ่ายทอดวิชาการลงอักขระเลขยันต์สืบต่อกันมา
เชื่อว่ายันต์แต่ละอย่างจะมีพุทธคุณช่วยให้เกิดความเป็นสิริมงคลในลักษณะต่างๆ กัน และเป็นตำราเฉพาะของแต่ละท่าน
ในจำนวนยันต์ทั้งหมด “ยันต์โสฬสมงคลและยันต์โสฬสมหามงคล” จัดเป็นยันต์ชั้นสูง ทำเป็นตัวเลข 3 ชั้น ชั้นนอกลงด้วยเลข 16 ตัว (โสฬส แปลว่า 16 ชั้นฟ้า มีความหมายถึงภูมิชั้นอรูปภูมิอันเป็นถิ่นที่อยู่ของพระพรหมทั้ง 16 ชั้น และหมายถึงพระพุทธคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 16 ประการ) พระมหายันต์นี้ปรากฏหลักฐานในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงตั้ง “ศาลหลักเมือง” โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ “ยันต์มหาโสฬสมงคล” ประดิษฐานไว้ที่ส่วนยอด เพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองและมหามงคล ณ เสาหลักเมือง
พระยันต์นี้แม้แต่ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) ผู้เจนจบใน พระยันต์ร้อยแปด ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นยันต์อันวิเศษสุดกว่ายันต์ทั้งปวง พระองค์ได้นำไปประทับในพระอุโบสถของวัดสุทัศนเทพวราราม และเขียนสอดใส่ไว้ใต้หมอนหนุนศีรษะตลอดเวลา จนกระทั่งท่านมรณภาพเมื่อปีพ.ศ.2487 ลูกศิษย์จึงได้พบแผ่นยันต์มหาโสฬสมงคล วางไว้ใต้หมอนของท่าน รวมถึง หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ก็ได้อัญเชิญไปดัดแปลงจัดสร้างเป็นตะกรุดโสฬสอันลือลั่นด้วย
“ยันต์โสฬสมหามงคล” เป็นมหายันต์ที่เกิดจากการนำเอายันต์ 3 ชนิดมารวมกันไว้ โดยใช้ตัวเลขแทนด้วยความหมายมงคลต่างๆ จากภาพ ตรงกลางช่องเล็ก 9 ช่อง คือ ยันต์จตุโร ถัดมาวงกลางเป็น ยันต์สูตรตรีนิสิงเห และด้านนอกสุดเป็น ยันต์อริยสัจโสฬส ส่วนอักขระด้านนอกที่ล้อมยันต์อยู่ คือ พระคาถาบารมี 30 ทัศ พระยันต์นี้ไม่ได้บังคับการลงยันต์ด้านหลังไว้
ฉะนั้นการลงยันต์ด้านหลังตะกรุดก็แล้วแต่พระเกจิแต่ละท่านจะลง อย่างเช่น สายวัดสะพานสูงจะลง “ไตรสรณคม” แบบย่อว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิฯ หากลงเต็มจะนำเอาบทอิติปิโส 3 ห้อง มาผูกลงในตารางกระดูกยันต์ ซึ่งถือเป็นพิธีลงยันต์ใหญ่ที่ยิ่งใหญ่และลงยากมาก เป็นต้น
ส่วนยันต์โสฬสมหามงคลรอบนอก ใช้พระคาถาจตุราวุธ ประกอบด้วย ด้านซ้าย อาวุธอาฬะวะกะยักษ์ มีบ่วงเป็นอาวุธ ด้านขวา อาวุธยะมะราชา มีนัยน์ตาเป็นอาวุธ ด้านบน อาวุธพระอินทร์ มีสายฟ้าเป็นอาวุธ ด้านล่าง อาวุธท้าวเวสสุวัณ มีคทาเป็นอาวุธ
พระคาถาโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี
โสฬะสะมังคะลัญเจวะ นะวะโลกุตตะระธัมมะตา จัตตาโรจะมหาทีปา
ปัญจะพุทธามหามุนี ตรีปิฏะกะธัมมักขันธา ฉะกามาวะจะราตะถา
ปัญจะทัสสะกะเวสัจจัง ทะสะมังสีละเมวะจะ เตรัสสะธุตังคาจะ
ปาฎิหารัญจะทะวาทัสสะ เอกะเมรุจะ สุราอัฎฐะ ทะเวจันทังสุริยังสัคคา
สัตตะโพชฌังคาเจวะ จุททัสสะจักกะวัตติจะ เอกาทะสะวิสะณุราชา
สัพเพเทวามัง ปะลายังตุ สัพพะทาเอเตนะ มังคะละเตเชนะ สัพพะโสตถี ภะวันตะ เมฯ
คาถาโสฬสมงคล บทนี้ เป็นของ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ใช้ปลุกเสกสร้างพระปิดตาและตะกรุด ที่มีชื่อเสียงด้านพุทธคุณเป็นเลิศ
ที่มา http://www.itti-patihan.com/